วัฒนธรรมภาคเหนือที่เกี่ยวกับตอนเจ็บป่วย
ประเพณีสู่ขวัญ
ส่งแถน

ลักษณะความเชื่อ "แถน" เป็นคำที่ใช้เรียกพ่อเกิดแม่เกิดของมนุษย์ ชาวเหนือเชื่อกันว่าคนที่จะเกิดเป็นมนุษย์ได้ก็เพราะมีผู้กำหนดหรือส่งให้มาเกิด ผู้ที่ส่งให้มาเกิดนี้เรียกว่าปู่แถนย่าแถน อาศัยอยู่บนสวรรค์ชั้นฟ้า มีอำนาจดลบันดาลให้มนุษย์อยู่ดีมีสุขหรือมีอันเป็นไปต่าง ๆ นานาโดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในวัยเด็ก เมื่อได้รับเคราะห์ร้ายเจ็บป่วยจะทำพิธีส่งแถน เพื่อนำเครื่องเซ่นไปสังเวยหรือเป็นการบอกกล่าว ขออภัยปู่แถนย่าแถน แต่ถ้าหากปู่แถนย่าแถนไม่ให้อภัยก็จะเอาตัวกลับคืนไป ผู้ที่เคราะห์ร้ายหรือเจ็บป่วยนั้นอาจถึงตายได้
ความสำคัญ การส่งแถนนับเป็นความเชื่อทางพิธีกรรมที่สามารถช่วยให้เด็ก ๆ หายจากอาการไม่สบาย ป่วยไข้บ่อยๆ ได้อย่างหนึ่งหลังจากการรักษาทางแพทย์แผนปัจจุบันแล้วไม่หาย ส่วนผู้ใหญ่อาจมีการส่งแถนบ้างเพื่อให้เกิดความสบายใจขึ้น
ปัจจุบันชาวเหนือจำนวนมากยังมีความเชื่อเรื่องในการส่งแถนกันอยู่ แต่อาจารย์ที่เป็นผู้ประกอบพิธีกรรมหายากขึ้น เพราะต้องอาศัยผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับคาถาอาคมและเข้าใจในการเตรียมสิ่งของตามพิธีจึงจะกระทำได้
พิธีกรรม จะมีอาจารย์วัดหรือผู้ที่เคยบวชเรียนมาก่อน (เรียกว่า หนาน) ซึ่งมีคาถาอาคมเป็นผู้ประกอบพิธีให้สิ่งของที่จัดเตรียมมี หมากพลู (ม้วนใบพลูมัดติดกับหมากเป็นคำ) บุหรี่ เมี่ยง ขนม ข้าวต้มมัด แกงส้ม แกงหวาน ข้าวตอก ดอกไม้ ช่อกระดาษ ตุง เทียน หุ่นคนปั้น (ใช้แทนตัวผู้เจ็บป่วย) และเสื้อผ้านุ่ง ตัดด้วยเศษผ้าตัวเล็ก ๆ (แทนเสื้อผ้าของผู้ป่วย) สิ่งของทั้งหมดนี้นำมาจัดเรียงใส่สะโตง (ใช้กาบกล้วยมาหักทำเป็นรูปสี่เหลี่ยมมีที่วางสิ่งของทั้งหลายเหล่านี้)
ในขณะทำพิธีผู้เจ็บป่วยจะต้องมานั่งไหว้ อาจารย์วัดก็จะท่องคำคาถาต่าง ๆ ไปเรื่อย ๆ เมื่อเสร็จพิธีอาจารย์วัดก็จะนำสะโตงไปแขวนไว้นอกบ้านหรือทางสามแพร่ง

ความสำคัญ พิธีสืบชะตาเป็นประเพณีสำคัญอย่างหนึ่งของชาวล้านนาที่เชื่อกันว่าเป็นการต่ออายุหรือต่อชีวิตของบ้านเมืองหรือของคนให้ยืนยาว มีความสุข ความเจริญ ตลอดจนเป็นการขจัดภัยอันตรายต่างๆที่จะบังเกิดขึ้นให้แคล้วคลาดปลอดภัย
พิธีสืบชะตาแบบพื้นเมืองของจังหวัดน่านได้ยึดถือและปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านาน ชาวน่านในทุกหมู่บ้าน ทุกตำบลต่างรู้จักและยึดมั่นปฏิบัติกันอยู่ เพราะเชื่อว่าทุกข์ภัยทั้งหลายที่จะเกิดขึ้นกับตัวเอง และญาติพี่น้องจะหมดหายไปชีวิตก็จะยืนยาวยิ่งขึ้น อีกทั้งเชื่อว่าก่อให้เกิดขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่การงานพร้อมที่จะสู้กับชะตาชีวิตต่อไป
พิธีสืบชะตานี้แบ่งเป็น ๓ ประเภทคือ
๑. สืบชะตาคน นิยมทำเมื่อขึ้นบ้านใหม่ ย้ายที่อยู่ใหม่ ได้รับยศหรือตำแหน่งสูงขึ้น วันเกิดที่ครบรอบเช่น ๒๔ ปี ๓๖ ปี ๔๘ ปี ๖๐ ปี ๗๒ ปี เป็นต้น หรือฟื้นจากป่วยหนัก หรือมีผู้ทักทายว่าชะตาไม่ดีจำเป็นต้องสะเดาะเคราะห์และสืบชะตา เป็นต้น
๒. สืบชะตาบ้าน นิยมทำเมื่อคนในหมู่บ้าน ประสบความเดือดร้อน หรือเจ็บไข้ได้ป่วยกันทั่วไปในหมู่บ้าน หรือตายติดต่อกันเกิน ๓ คน ขึ้นไป ถือเป็นเสนียดของหมู่บ้าน คนในหมู่บ้านอาจพร้อมใจกันจัดในวันปากปี ปากเดือน หรือปากวัน คือวันที่หนึ่ง สอง หรือสามวันหลังวันเถลิงศก เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคล
๓. สืบชะตาเมือง จัดขึ้นเมื่อบ้านเมืองเกิดความเดือดร้อนจากอิทธิพลของดาวพระเคราะห์ตามความเชื่อทางโหราศาสตร์ เพราะทำให้บ้านเมืองปั่นป่วนวุ่นวาย เพราะการจราจลการศึก หรือเกิดโรคภัยแก่ประชาชนในเมืองเจ้านายท้าวพระยาบ้านเมืองจึงจัดพิธีสืบชะตาเมือง เพื่อให้อายุของเมืองได้ดำเนินต่อเนื่องสืบไป
พิธีกรรม
เครื่องสืบชะตาคนประกอบด้วย
๑. ไม้ค้ำสรี (สะหรี ต้นศรีมหาโพธิ์) ๑๐๐ เล่ม
๒. ขัว (สะพาน) ๑ คู่
๓. ลวดเบี้ย ๓ เส้น (เส้นหนึ่งใช้หอยเบี้ยร้อยเป็นสาย ๑๐๐ ตัว)
๔. ลวดหมาก,ลวดพลู ๓ เส้น (เส้นละ ๑๐๐)
๕. ลวดเมี่ยง ๓ เส้น (เส้นละ ๑๐๐)
๖. ลวดเงิน ๓ เส้น
๗. ลวดทอง ๓ เส้น
๘. ตุงยาวค่าคิง(ยาวเท่าตัวคน) ๓ ตัว
๙. ตุงเล็กและตุงช่อ ๑๐๐ ตัว
๑๐. ลวดข้าวตอก ๓ เส้น (เส้นละ ๑๐๐)
๑๑. บอกน้ำ,บอกทราย อย่างละ ๑ กระบอก
๑๒. บอกข้าวเปลือก,บอกข้าวสาร อย่างละ ๑ กระบอก
๑๓. ต้นกล้ามะพร้าว,ต้นอ้อย,ต้นกล้วย อย่างละ ๓ ต้น
๑๔. กล้วยน้ำว้าดิบ ๑ เครือ
๑๕. มะพร้าว ๑ ทะลาย
๑๖. สีสายค่าคิง(สายน้ำมันยาวเท่าตัว) ๑ สาย
๑๗. เสื่อใหม่ ๑ ผืน
๑๘. หมอนใหม่ ๑ ใบ
๑๙. เสื้อผ้าของผู้เข้าร่วมสืบชะตา
๒๐. หม้อใหม่ ๒ ใบ (หม้อเงิน,หม้อทอง) อย่างละ ๑ ใบ
๒๑. ใบไม้ที่เป็นมงคลเช่น ใบเต๊า ใบขนุน ใบเงิน ใบทอง เป็นต้น
๒๒. เทียนขี้ผึ้งแท้น้ำหนัก ๑ บาท ๑ แท่ง
๒๓. ด้ายสายสิญจน์ ๑ ม้วน
๒๔. บาตรสำหรับใส่น้ำพุทธมนต์ ๑ ใบ
๒๕. ปลาสำหรับปล่อยจำนวนเท่าอายุเจ้าชาตา
๒๖. นก ปู หรือหอยสำหรับปล่อย
อุปกรณ์ดังกล่าวให้จัดทำเป็นกระโจม ๓ ขา กว้างพอที่เจ้าชะตาจะเข้าไปนั่งในนั้นได้ โดยใช้ด้ายสายสิญจน์โยงจากศีรษะไปสู่ยอดกระโจมและดึงไปหาบาตรน้ำมนต์หน้าพระพุทธรูป พระสงฆ์จะถือด้ายสายสิญจน์ขณะสวดมนต์และจะใช้ผูกข้อมือเจ้าชะตาอีกด้วย บางตำราก็จะให้ทำพิธีขึ้นท้าวทั้งสี่ก่อนทำพิธีเครื่องประกอบพิธีอย่างอื่น ได้แก่ ขันตั้งสืบชะตา ประกอบด้วยเทียนเล่มเล็ก ๘ คู่ เล่ม ๑ บาท ๑ คู่ เทียนเล่มเฟื้อง ๑ คู่ ข้าวตอกดอกไม้ หมากหัว พลูมัด เบี้ยพันสาม กล้วยเครือมะพร้าว บอกข้าวเปลือก บอกข้าวสาร หม้อน้ำ หม้อดิน ขันขอศีล ประกอบด้วยเทียนเล่มเล็ก ๔ คู่ ข้างตอกดอกไม้ใส่พาน ขันคารวะเครื่องสืบชะตา ประกอบด้วยเทียนเล่มเล็กน้ำหนัก ๒ สลึง ๔ คู่ เทียนสืบชะตา ๓ เล่มเทียนขนาดเล็ก ๑๐๐ เล่ม ประทีป ๑๐๐ อัน และตาแหลวคาเขียว ๑ อัน
ขั้นตอนในการประกอบพิธีสืบชะตา
ผู้ดำเนินการและผู้ประกอบพิธี
๑. พระสงฆ์จำนวน ๙ รูป
๒. อาจารย์ฝ่ายคฤหัสถ์
๓. ผู้เข้าร่วมพิธีสืบชะตา (เจ้าชะตาและคณะ)
ขั้นตอนพิธีการ
๑. ตั้งเครื่องสืบชะตา จัดโต๊ะหมู่บูชา ตั้งอาสนะสงฆ์ ๙ ที่
๒. เจ้าชะตาจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย
- ประเคนบาตรน้ำมนต์ให้พระสงฆ์
- ประเคนขันสืบชะตา ด้ายสายสิญจน์
- ประเคนพานอาราธนาศีล แล้วกลับไปนั่งซุ้มพิธี
๓. อาจารย์(ผู้นำในการประกอบพิธี) นำกล่าวบูชาพระรัตนตรัย
๔. อาจารย์กล่าวอาราธนาศีล-ประธานสงฆ์ให้ศีล
๕. อาจารย์อาราธนาพระปริต
- พระสงฆ์องค์ที่ ๓ กล่าว สักเค ชุมนุมเทวดา
- คณะสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์
๖. อาจารย์สมาธรรม และครัวทาน (ขอขมา)
๗. อาจารย์อาราธนาธรรม พระสงฆ์เทศนาธรรมสืบชะตา ๙ ผูก
๘. ประธานสงฆ์มอบเครื่องสืบชะตาให้แก่เจ้าชะตาและคณะ
๙. ประธานสงฆ์ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ พระสงฆ์เจริญไชยมงคลคาถา
๑๐. เจ้าชะตาและคณะถวายจตุปัจจัยไทยธรรมแก่พระสงฆ์ พระสงฆ์อนุโมทนา
๑๑. อาจารย์นำกราบพระ บูชา พระรัตนตรัย เจ้าชะตาถวายภัตตาหารและไทยทานเป็นอันเสร็จพิธี
ชื่อคัมภีร์ที่ใช้ประกอบพิธีสืบชะตา
๑. มหาทิพพมนต์ ๑ ผูก
๒. อุณหัสสะวิไชย ๑ ผูก
๓. โลกาวุฒิ ๔ ผูก
๔. สะลาถะวิชชาสูตร ๑ ผูก
๕. พุทธะสังคะหะโลก ๑ ผูก
๖. มหาไชยมงคล ๑ ผูก
การเทศน์ธรรมสืบชะตาทั้ง ๙ ผูก พระสงฆ์จะเทศน์พร้อมกันรูปละ ๑ ผูก ส่วนเครื่องประกอบพิธีกรรมสืบชะตาบ้าน กับชะตาเมืองนั้น เครื่องสืบชะตาจะเพิ่มมากขึ้นเป็นเครื่อง ๑,๐๐๐ จะมีการโยงสายสิญจน์จากวัดหรือสถานประกอบพิธีผ่านไปยังบ้านแต่ละหลังจนครบทั้งหมู่บ้านและทุกครอบครัวก็จะเตรียมน้ำส้มป่อยน้ำอบ น้ำหอม และทรายมาร่วมพิธีเมื่อเสร็จแล้วจะได้นำกลับไปโปรยที่บ้านเรือนของตนตานขัว
การส่งเคราะห์
การส่งเคราะห์ เกิดจากความเชื่อของบุคคลที่เกิดเหตุการณ์ไม่ปกติขึ้นกับตนเองหรือคนใกล้ชิด หาวิธีการที่จะขจัดปัดเป่าเคราะห์นั้นให้หมดสิ้นไป ซึ่งเป็นการขจัดความวิตกกังวลที่เกิดในจิตใจให้หมดสิ้นไป จึงต้องทำการส่งเครื่องเซ่นไปว่าย เพื่อให้เคราะห์นั้นหมดสิ้นหรือเบาลงไป ผู้ที่ทำพิธีส่งเคราะห์คือ อาจารย์ การประกอบพิธีกรรม จะมีบรรดาญาติของผู้เจ็บป่วยและผู้ป่วยเข้าร่วมในพิธีกรรม เครื่องบูชา ประกอบด้วยตุง รูปปั้นดินเหนียวรูปคน รูปสัตว์ต่างๆ เช่น ช้าง วัว เสือ งู ไก่ นอกจากนี้ก็มีกล้วย อ้อย หมาก พริก บุหรี่ ข้าวสุก อาหารคาว (แกงดิบและแกงสุก) อาหารหวาน เครื่องบูชาเหล่านี้จะบรรจุไว้ใน สะโตง ซึ่งทำด้วยกาบกล้วยทำเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ปู่อาจารย์ก็จะนำสะโตงนั้นไปยังทางสามแพร่ง หรือทิศทางที่ไม่ถูกกับลักขณา ของผู้ป่วย และจุดธูปเทียนบูชาภูติผีปีศาจ ยกสะโตงขึ้นจบเหนือศีรษะ และกล่าวอัญเชิญ ภูติผีปีศาจเทวดาอารักษ์ให้มารับ
องค์ประกอบของพิธีกรรมส่งเคราะห์
๑.๑ ผู้ประกอบพิธีกรรม ผู้ที่ประกอบพิธีกรรมส่งเคราะห์ได้นั้นจะต้องเป็นผู้สูงอายุที่น่านับถือผ่านการบวชเรียนและถือศีลมาแล้วซึ่งจะเรียกว่า “หนาน” เป็นผู้ที่นิยมเคร่งครัดในทางไสยศาสตร์จนเป็นที่นับถือของชาวบ้าน ซึ่งเชื่อกันว่าคนที่ไม่ได้ผ่านการบวชเรียนมาจะเป็นอาจารย์ไม่ได้เพราะ ชาวบ้านเชื่อว่าผู้ประกอบพิธีกรรมต้องเป็นผู้ที่สื่อความหมายกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ และต้องเป็นผู้ที่สนใจในเรื่องการประกอบพิธีกรรมและมีคาคาอาคมที่เก่งนอกจากนั้นจะร้องรอบรู้อักษรล้านนาหรือตัวหนังสือเมือง ทุกหมู่บ้านมักจะมีอาจารย์ประจำหมู่บ้าน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผู้เข้าร่วมพิธีว่าจะศรัทธาอาจารย์ท่านใด ก็สามารถเชิญมาประกอบพิธีส่งเคราะห์ ในบ้านมหาโพธิ์มีผู้ประกอบพิธีกรรมจำนวน ๓ ท่าน ในการรวบรวมข้อมูลครั้งนี้ กลุ่มของผู้จัดทำได้รับความร่วมมือจากพ่อทองคำ ยศแสน อายุ ๗๖ ปี ซึ่งเป็นมัคทายกของวัดมหาโพธิ์ และได้บวชเรียนตั้งแต่อายุ ๑๘ ปี
๑.๒ ผู้เข้ารับการประกอบพิธีกรรมส่งเคราะห์ แบ่งกลุ่มได้ดังนี้
กลุ่มที่ ๑ คือ ผู้ที่เกิดวันที่มีเคราะห์ประจำปี โดยในวันที่ ๑๕ เมษายน ที่เรียกว่าวันพญาวัน ตอนเย็นจะมีการรดน้ำพระเจ้า(พระพุทธรูป) พระที่เป็นเจ้าอาวาสจะดูตำราว่าปีนี้คนเกิดวันใดมีเคราะห์ซึ่งในปีนี้ คนที่มีเคราะห์ คือคนที่เกิดวันศุกร์ เพราะฉะนั้น ผู้ที่เกิดวันศุกร์ก็จะมาทำพิธีส่งเคราะห์ที่วัดในวันที่๑๖ เมษายน ซึ่งเป็นวันปากปี โดยทำพิธีส่งเคราะห์ส่วนตัวหลังจากทำพิธีส่งเคราะห์บ้านแล้ว ส่วนคนที่ยังไม่สะดวกก็จะทำพิธีที่บ้านในวันถัดไป เมื่อสะดวก แต่ต้องไปให้อาจารย์วัดดูด้วยว่าวันดีที่จะทำพิธีคือวันใด
กลุ่มที่ ๒ คือ ผู้ที่ได้รับเคราะห์ร้ายจากการฝันไม่ดี หรือเจ็บป่วยสามวันดีสี่วันไข้ หรือ ผู้ที่อายุถึงวัยเบญจเพส ต้องการปัดเป่าเคราะห์ร้ายออกจากตัว จึงเข้ารับการประกอบพิธีกรรมส่งเคราะห์ส่วนตัวเพื่อป้องกันเคราะห์ร้ายและสิ่งอัปมงคลที่จะเกิดขึ้น นอกจากผู้ที่เข้ารับการประกอบพิธีกรรมส่งเคราะห์แล้ว ยังมีพ่อ แม่ ญาติพี่น้องเข้าไปร่วมในพิธีกรรมด้วย เมื่อเข้าพิธีส่งเคราะห์แล้วจะทำให้สบายใจ มีความมั่นใจว่า สิ่งร้ายที่เกิดกับตนเองและคนรอบข้างนั้นจะกลายเป็นดีได้ โดยมีความเชื่อว่า ถ้าเกิดรางร้ายดังกล่าวแล้วไม่ประกอบพิธีกรรมส่งเคราะห์ จะทำให้ไม่มั่นใจในการดำเนินชีวิต และการเดินทางเพื่อไปติดต่อสื่อสารกับบุคคลอื่น แต่ถ้าเข้ารับการประกอบพิธีกรรมดังกล่าวแล้ว เชื่อว่า จะไม่เกิดเหตุการณ์ร้าย ๆ ในการดำเนินชีวิตประจำวันและถ้าจะเดินทางเพื่อไปติดต่อกับบุคคลอื่นที่อยู่ไกลบ้านนั้นจะประสบผลสำเร็จ และไม่เกิดอุบัติเหตุขึ้นขณะเดินทาง
๑.๖ ขั้นตอนการส่งเคราะห์ แบ่งได้เป็น 2 ขั้นตอนดังนี้
๑.๖.๑ ขั้นเตรียมการ ผู้เข้ารับการประกอบพิธีกรรมส่งเคราะห์จะต้องจัดเตรียมวัตถุสิ่งของอันได้แก่ เครื่องบูชา เครื่องเซ่นไหว้ และภาชนะที่ใช้เครื่องเซ่นไหว้ให้ครบถ้วนพร้อมเพรียงก่อนถึงเวลาที่จะประกอบพิธีกรรม ดังนี้
๑) เตรียมเครื่องบูชา ประกอบด้วย – ขัน, หมาก ๑ หัว, พลู ๑ มัด, ธูป ๘ คู่,ดอกไม้ , ผ้าขาวผ้าแดงตัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสความกว้าง 2 นิ้ว , ข้าวสาร,เงินค่ายกครูจำนวน ๓๖ บาท แล้วนำเครื่องบูชาทั้งหมดใส่จานหรือจะเป็นพานก็ได้
๒) เตรียมเครื่องสังเวย โดยการนำกาบกล้วยเพื่อทำกระทงหรือสะโตงเป็นภาชนะใส่เครี่องสังเวย
นอกจากจะเตรียมเครื่องสังเวยแล้ว ยังจะต้องเตรียมน้ำส้มป่อยและใบหนาดมัดรวมกันแล้วนำมาใส่ขันเตรียมรอผู้ประกอบพิธีกรรม
๑.๖.๒ ขั้นดำเนินการ จะกระทำก็ต่อเมื่อได้เตรียมวัตถุในการส่งเคราะห์เสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อผู้ประกอบพิธีกรรมมาถึงจะเริ่มดำเนินการดังนี้
๑) ผู้ประกอบพิธีกรรมยกขันตั้งขึ้นโดยการระลึกถึงคุณครูบาอาจารย์ของผู้ประกอบพิธีกรรม
๒) นำกระทงมาวางตรงหน้าผู้เข้าร่วมประกอบพิธีกรรม โดยให้นั่งหันหลังให้ผู้ประกอบพิธี ผู้ประกอบพิธีกรรมจะทำการร่ายคาถาปัดเคราะห์ให้ออกจากร่างกาย จะร่ายคาถาไปด้วยประพรมน้ำมนต์ไปด้วยเพื่อปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายออกไปจากร่างกายของผู้เข้ารับการประกอบพิธีกรรมส่งเคราะห์
๓) ผู้ประกอบพิธีจะเอาสะโตงหรือกระทงออกไปไว้นอกรั้วทางทิศตะวันตกแล้วผู้ประกอบพิธีกล่าวคำส่งกระทง(สะโตง) เป็นเสร็จพิธี
๔) หลังจากเสร็จพิธี ผู้เข้าร่วมพิธีกรรมจะนำน้ำส้มปล่อยที่ใช้ในการประกอบพิธีลูบที่ศีรษะของตนเอง ที่เหลือก็นำไปอาบเพื่อเป็นศิริมงคล
แหล่งอ้างอิง: ส่งเคราะห์ส่งนาม https://www.gotoknow.org/posts/495657
สู่ขวัญ http://www.openbase.in.th/node/6532
ส่งแถน http://www.prapayneethai.com/การส่งแถน
สืบชะตา http://www.prapayneethai.com/พิธีสืบชะตา
การสะเดาะเคราะห์ http://www.handhoro.com/index.php/2010-05-26-06-12-24.html
สู่ขวัญ http://www.openbase.in.th/node/6532
ส่งแถน http://www.prapayneethai.com/การส่งแถน
สืบชะตา http://www.prapayneethai.com/พิธีสืบชะตา
การสะเดาะเคราะห์ http://www.handhoro.com/index.php/2010-05-26-06-12-24.html